วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เขาพระวิหาร

ก.ปัญหาเขาพระวิหารเริ่มแรก

   ...คนไทยไม่ค่อยรู้ความเป็นมาเป็นไปในคดีปราสาทพระวิหารอาจเป็นเพราะว่า ประเทศไทยแพ้คดีนี้ให้กับประเทศเพื่อนบ้านคือกัมพูชา จนทำให้สังคมไทยไม่อยากกล่าวถึงคดีนี้มากนัก...

              ประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารกลายเป็นหัวข้อที่สาธารณชนให้ความสนใจอีกครั้ง เมื่อประเทศกัมพูชายื่นเรื่องการขอเสนอให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตาม อนุสัญญา Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage โดยที่ประเทศไทยคัดค้านการยื่นฝ่ายเดียวของกัมพูชา โดยอ้างเรื่องความสมบูรณ์ทางวิชาการด้านโบราณคดีและการที่ทั้งสองประเทศยัง ตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับเขตแดน

           แม้คดีนี้จะผ่านความรับรู้ของคนไทยมายาวนานแล้วก็ตามแต่ปรากฏว่ามีคนไทยน้อยมากที่รู้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในเรื่องนี้

           เหตุผลที่คนไทยไม่ค่อยรู้ความเป็นมาเป็นไปในคดีปราสาทพระวิหารอาจเป็น เพราะว่าประเทศไทยแพ้คดีนี้ให้กับประเทศเพื่อนบ้านคือกัมพูชา จนทำให้สังคมไทยไม่อยากกล่าวถึงคดีนี้มากนัก

           และด้วยเหตุที่คนไทยรู้จักกับคดีนี้น้อย จึงอาจมีการบิดเบือนข้อมูลได้ง่าย เนื่องจากคดีนี้มีสองประเด็นใหญ่ที่ต้องพิจารณาคือ ประเด็นเรื่องการยอมรับเขตอำนาจศาลและการพิจารณาขั้นเนื้อหา จึงขอแยกอธิบาย ดังนี้

  ประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลโลก

           ประชาชนคนไทยมักจะสงสัยอยู่เสมอว่า ทำไมประเทศไทยต้องไปขึ้นต่อสู้คดีต่อศาลโลกที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีอธิปไตย มีเอกราช การขึ้นต่อสู้คดีของประเทศไทยมิเท่ากับเป็นการเสียเอกราชหรือ

           ประเด็นนี้ เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่สลับซับซ้อน หากใช้ความรู้สึกชาตินิยมหรือสามัญสำนึกย่อมไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศไทยต้อง ขึ้นศาลโลก ผู้เขียนจะขออธิบายช่องทางการยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเสียก่อนว่ามีวิธีการใด บ้าง การยอมรับเขตอำนาจศาลโลกนั้นทำได้อยู่สามประการคือ

             ประการแรก การยอมรับเขตอำนาจการพิจารณาคดีโดยการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาใดอนุสัญญาหนึ่ง ซึ่งกำหนดว่า หากมีปัญหาในการตีความสนธิสัญญา ให้ศาลโลกเป็นผู้พิจารณา

             ประการที่สอง ประเทศคู่พิพาทตกลงทำความตกลงยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเป็นเฉพาะกรณีๆ ไป กล่าวคือ เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นมาแล้ว รัฐคู่พิพาทได้ทำสนธิสัญญายอมรับเขตอำนาจศาลเฉพาะข้อพิพาทนั้น และ

             ประการที่สาม รัฐได้ทำคำประกาศฝ่ายเดียวยอมรับเขตอำนาจศาล ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐกำหนดไว้

           ประเด็นเรื่องการยอมรับเขตอำนาจศาลโลก (ทั้งศาลโลกเก่าและใหม่) ของประเทศไทยนั้นเป็นประเด็นที่คนไทยไม่ใคร่ได้กล่าวถึง อาจเป็นเพราะว่าเป็นประเด็นข้อกฎหมายมากเกินไปประชาชนทั่วไปจึงไม่ค่อยได้ สนใจ

           อีกทั้งทางการก็มิได้ชี้แจงประเด็นนี้ต่อสาธารณชน มากนักทั้งๆ ที่ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างมาก และเป็นประเด็นที่หากมีการกล่าวถึงในวงกว้างแล้วก็อาจมีผลกระทบต่อผู้ เกี่ยวข้องได้ แต่เนื่องจากประเด็นนี้สำคัญ ผู้เขียนจึงมิอาจหลีกเลี่ยงที่จะข้ามไปได้จึงขอกล่าวถึง ดังนี้

           ประเทศไทยได้ทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจของศาลโลก ทั้งหมด 3 ฉบับ ดังนี้

             ฉบับแรกทำเมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ.1929 และเริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ในปี ค.ศ.1930 โดยคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเก่าซึ่งชื่ออย่างเป็นทางการคือ "ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ" เป็นเวลา 10 ปี

             ฉบับที่สอง รัฐบาลไทยทำคำประกาศโดยมิวัตถุประสงค์เพื่อ "ต่ออายุ" เขตอำนาจศาลโลกเก่า โดยคำประกาศฉบับที่สองนี้ทำเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.1940 โดยคำประกาศที่สองนี้เริ่มมีผลใช้บังคับวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.1940

             ฉบับที่สาม รัฐบาลไทยทำเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.1950 ซึ่งหลังจากที่คำประกาศฉบับที่สอง (ที่ต่ออายุคำประกาศฉบับแรก) หมดอายุเป็นเวลา 14 วัน

           มีข้อสังเกตที่น่าสนใจและเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ฝ่ายไทยนำมาอ้างก็คือ ศาลโลกเก่านั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1946 และตามธรรมนูญของศาลโลกใหม่ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ" (International Court of Justice : ICJ) นั้นมาตรา 36 วรรค 5 ได้กำหนดว่า ให้การยอมรับเขตอำนาจ "ศาลโลกเก่า" โอนถ่ายไปยัง "ศาลโลกใหม่" หากว่า คำประกาศนั้นยังมีผลใช้บังคับอยู่หรือกล่าวง่ายๆ คือ ยังไม่ขาดอายุนั่นเอง

           ข้อต่อสู้เกี่ยวกับการคัดค้านเขตอำนาจศาลโลกใหม่ที่ทนายความฝ่ายไทยต่อ สู้ในชั้นของการคัดค้านเขตอำนาจของศาลโลกใหม่นั้นมีว่า คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเก่าได้ยุติลงอันเป็นผลมาจากการสิ้นสุดของศาล โลกเก่า ดังนั้น คำประกาศต่ออายุเขตอำนาจศาลโลกเก่าเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ.1950 จึงไม่มีผลใช้บังคับอีกต่อไป

           อีกทั้งคำประกาศดังกล่าวมิใช่คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกใหม่ ดังนั้น ศาลโลกใหม่จึงไม่มีเขตอำนาจ

           แต่ข้อต่อสู้นี้อ่อนมาก ศาลโลกเห็นว่า คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลฉบับที่สามที่รัฐบาลไทยทำเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ.1950 นั้น ไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการต่ออายุยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเก่าได้ เพราะว่า คำประกาศฉบับที่สามนี้ ทำหลังจากที่คำประกาศฉบับที่สองหมดอายุแล้วสองอาทิตย์

           ศาลโลกเห็นว่า สิ่งที่จะต่ออายุได้นั้น สิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่ยังมีอยู่ มิใช่เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว อีกทั้งรัฐบาลไทยก็รู้ดีว่าขณะที่ทำคำประกาศฉบับที่สามนั้นทำหลังจากที่ศาล โลกเก่าได้สิ้นสุดลงแล้วกว่าสี่ปี (ศาลโลกเก่าสลายตัวเมื่อปี ค.ศ.1946 แต่คำประกาศฉบับที่สามทำเมื่อปี ค.ศ.1950) ข้ออ้างของประเทศไทยจึงฟังไม่ขึ้น

           ประเด็นต่อไปมีว่า ในเมื่อคำประกาศฉบับที่สามฟังไม่ได้ว่าเป็นคำประกาศต่ออายุยอมรับเขตอำนาจ ศาลโลกเก่าแล้ว ผลในทางกฎหมายของคำประกาศฉบับที่สามคืออะไร ศาลโลกเห็นว่า คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลฉบับที่สามเป็นคำประกาศใหม่ ที่แยกเป็นเอกเทศออกจากคำประกาศฉบับแรกและฉบับที่สอง

           และหากพิจารณาเนื้อหาของคำประกาศที่สามแล้ว ศาลโลกเห็นว่า เป็นการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกใหม่ โดยอิงเงื่อนไขจากคำประกาศฉบับแรก

           ดังนั้น ศาลโลกจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ศาลโลกมีเขตอำนาจพิจารณาข้อพิพาทที่รัฐบาลกัมพูชาฟ้องรัฐบาลไทย ข้อต่อสู้ทางกฎหมายของฝ่ายไทยฟังไม่ขึ้น 

  ประเด็นเรื่องเนื้อหาของข้อพิพาท 

           คําร้องของกัมพูชาที่สำคัญที่ให้ศาลโลกวินิจฉัยคือประเด็นที่ว่า กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอันเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร การนำเสนอพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายนั้นมีดังนี้ 

           ฝ่ายไทยเสนอว่า หากพิจารณาตามสนธิสัญญาที่สยามทำกับประเทศฝรั่งเศส (ขณะนั้นประเทศฝรั่งเศสปกครองกัมพูชา) เมื่อปี ค.ศ.1904 ซึ่งตามสนธิสัญญาจะใช้ "สันปันน้ำ" (watershed) ปราสาทพระวิหารจะอยู่ฝั่งไทย แต่หากพิจารณาตามแผนที่ ปราสาทพระวิหารจะอยู่ฝั่งกัมพูชา 


           ขออธิบายตรงนี้เลยว่าหลังจากที่มีการทำสนธิสัญญาทวิภาคีในปี ค.ศ.1904 ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งคณะกรรมการผสมขึ้น และไม่นานนัก คณะกรรมการชุดนี้ก็มิได้ทำงานอีกต่อไป ต่อมา ฝ่ายไทยได้ร้องขอให้ประเทศฝรั่งเศสจัดทำแผนที่ขึ้น ข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนที่เจ้าปัญหาฉบับนี้ มีดังนี้ 

             ประการแรก แผนที่นี้เป็นการร้องขอจากฝ่ายไทยให้ประเทศฝรั่งเศสทำขึ้น แผนที่นี้ทำขึ้นที่กรุงปารีส การที่ประเทศร้องขอให้ประเทศฝรั่งเศสทำขึ้นนั้นเป็นเพราะว่าในขณะนั้น ประเทศไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญในการทำแผนที่ 

             ประการที่สอง การปักปันเขตแดนแล้วลงมาตราส่วนลงในแผนที่เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของประเทศฝรั่งเศส โดยที่ฝ่ายไทยไม่มีส่วนร่วมเลย 

             ประการที่สาม การทำแผนที่นี้ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการผสมแต่อย่างใด ในประเด็นนี้ผู้พิพากษาฟิสต์มอริสซึ่งเป็นหนึ่งในองค์คณะกล่าวว่า คณะกรรมการผสมไม่เคยแม้แต่จะ "เห็น" แผนที่นี้ อย่าว่าแต่ "รับรอง" เลย เป็นการร้องขอฝ่ายเดียวจากรัฐบาลไทย 

             ประการที่สี่ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดและเป็นเหตุผลสำคัญที่ศาลโลกวินิจฉัยให้ประเทศไทยแพ้ก็คือ แม้ประเทศไทยจะไม่มีส่วนในการทำแผนที่ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยคัดค้านหรือประท้วงเกี่ยวกับความถูกต้องของแผนที่ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีโอกาสอยู่หลายครั้งที่จะทักท้วงหรือประท้วงถึงความคลาด เคลื่อนหรือความผิดพลาดของแผนที่ 

           โอกาสที่จะประท้วงความไม่ถูกต้องของแผนที่ เช่น กรณีการเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศฝรั่งเศสที่ทำขึ้นในปี ค.ศ.1925-1937 แต่ไทยก็มิได้ทักท้วง 

           ซึ่งศาลโลกเห็นว่า การนิ่งเฉยของประเทศไทยเป็นเวลานานเท่ากับเป็นการยอมรับความถูกต้องของแผนที่แล้ว จะมาปฏิเสธในภายหลังนั้น ไม่อาจกระทำได้ เป็นการปิดปากประเทศไทยว่าจะมาปฏิเสธความผิดพลาดของแผนที่ไม่ได้ 

           ยิ่งไปกว่านั้น ทางการของไทยเองยังได้ทำแผนที่ใช้ขึ้นเองอีกด้วยในปี ค.ศ.1937 โดยแผนที่ที่เจ้าหน้าที่ของไทยเป็นผู้จัดทำ ได้แสดงว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ประเด็นนี้ไทยอ้างว่า แผนที่ที่ไทยทำขึ้นเองฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการทหารเป็นการภายในเท่านั้น แต่ศาลโลกไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างของไทยในประเด็นนี้

           เหตุผลประการหนึ่งที่ศาลโลกเห็นว่า ประเทศไทยยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือที่ตั้งปราสาทพระวิหารก็คือ การที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ไปเยือนกึ่งเป็นทางการที่ปราสาทพระวิหาร ในครั้งนั้น กองทหารฝรั่งเศสได้ตั้งกองทหารเกียรติยศรับการเสด็จอย่างเต็มที่ และยังชักธงชาติของประเทศฝรั่งเศสด้วย 

           ซึ่งศาลโลกเห็นว่า เท่ากับประเทศไทยยอมรับอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารว่าเป็นของกัมพูชา (ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส) อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ ผู้พิพากษาศาลโลกท่านหนึ่งคือ ท่านเวลลิงตัน คู ซึ่งเป็นตุลาการเสียงข้างน้อยได้ทำความเห็นแย้งว่า ในเวลานั้นกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่ดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศไทย อีกทั้งพระองค์ยังตรัสว่า การมาเยือนปราสาทพระวิหารนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง 

           นอกจากนี้ สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ไทยแพ้คดีอาจเป็นผลมาจากการตั้งรูปคดีที่ผิดพลาดมา ตั้งแต่ต้น แทนที่ประเทศไทยจะปฏิเสธความผิดพลาดของแผนที่ ควรรับประเด็นเรื่องแผนที่ แล้วยกข้อต่อสู้ว่า ในกรณีที่ข้อความในสนธิสัญญาที่ให้ใช้ "สันปันน้ำ" แย้งกับ "แผนที่" ในกรณีนี้ให้ถือว่าข้อความในสนธิสัญญามีค่าบังคับเหนือกว่า 

           ซึ่งอนุสัญญาแวร์ซายส์ มาตรา 29 ก็มีข้อความทำนองนี้ อีกทั้งก็มีคดีที่ศาลตัดสินให้ความน่าเชื่อถือของสนธิสัญญายิ่งกว่าแผนที่ 

            จริงหรือที่ "การนิ่งเฉย" หรือ "กฎหมายปิดปาก" มิใช่เป็นหลักกฎหมาย 

           หลังจากที่ไทยแพ้คดี นายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเวลานั้นกล่าวทำนองว่าศาลโลกนำหลักกฎหมายที่ไม่ชัดเจนมาตัดสินคดี ที่น่าคิดก็คือ ทำไมทนายฝ่ายไทยไม่ทราบ หรือว่า "หลักกฎหมายปิดปาก" หรือ "การนิ่งเฉย" นั้น ศาลโลกหรืออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเคยนำมาใช้หลายคดีแล้ว 

              ไม่อาจคาดการณ์ได้แน่ชัดว่าฝ่ายไทยได้เคยอ่านบทความนี้หรือไม่ แต่ไม่ว่าฝ่ายไทยจะได้เคยอ่านบทความนี้หรือไม่ก็ตาม ประเด็นที่น่าคิดก็คือ ทนายความของฝ่ายไทยน่าจะย่อมรู้ถึงหลักกฎหมายปิดปากเป็นอย่างดี 

           เพราะหลักว่าด้วย "การถูกการตัดสิทธิ" (Preclusion) หรือ "การนิ่งเฉย" อาจเทียบได้หรือมีผลเท่ากันกับ "หลักกฎหมายปิดปาก" อันเป็นหลักกฎหมายอังกฤษ หรือแองโกลแซกซอน 

  บทส่งท้าย 

           สรุปเหตุผลที่แท้จริงที่ประเทศไทยเสียปราสาทพระวิหารคือ การยอมรับความคลาดเคลื่อนของแผนที่อันเป็นผลมาจากการทำแผนที่ฝ่ายเดียวของ เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส ซึ่งศาลโลกเห็นว่า หลังจากที่ทำสนธิสัญญาประเทศสยามอยู่ในฐานะที่จะคัดค้านความไม่ถูกต้องของ แผนที่ได้หลายครั้ง แต่ก็มิได้คัดค้าน จึงปิดปากประเทศสยามว่าต่อมาจะปฏิเสธความไม่ถูกต้องของแผนที่ไม่ได้ 

           หากประเทศไทยจะเสียดินแดนอีกครั้งคงไม่ใช่เพราะนำข้อมูลการต่อสู้ทาง กฎหมายคดีความเอาไปขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านหรือเกิดจากความไม่รักชาติ ไม่สามัคคีอย่างที่คนไทยหลายคนเข้าใจกัน (ซึ่งรวมถึง พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ด้วย) แต่เกิดจากความไม่รอบคอบ ความประมาท และไม่รู้จักหน้าที่ของตนเองมากกว่า เหมือนกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสามจังหวัดภาคใต้ของเรา 

     ....บทความโดย ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ....


ข.คำตัดสินของศาลโลกคดีเขาพระวิหารวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556


         เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานจากพระราชวังสันติภาพ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับไทยเวลา 16.00 น.) 

         ผู้พิพากษา นายปีเตอร์ ทอมก้า ประธานองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกขึ้นนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษา เริ่มด้วยการแสดงความเสียใจต่อผู้นำไทย ในกรณีสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นต่อด้วยคำพิพากษา มีเนื้อหาโดยสรุป ดังต่อไปนี้

ศาลสรุปว่า ข้อพิพาทมีความสัมพันธ์ใน 3 แง่ 1.มีข้อพิพาทว่า คำพิพากษาปี 1962 นั้น ได้ตัดสินหรือไม่ได้ตัดสินว่ามีข้อผูกพันเส้นแบ่งเขตแดนในแผนที่ภาคผนวก 1 ให้เป็นเขตแดนระหว่างสองประเทศหรือไม่  2.จะมีความสัมพันธ์ในกรณีพิพาท แง่ความหมายและขอบเขตของวลีที่ว่า บริเวณดินแดนกัมพูชาในบทปฏิบัติที่ 2 ของคำพิพากษาปี 1962  ศาลได้พูดว่าเป็นผลที่ตามมาจากข้อบทปฏิบัติที่ 1 ยืนยันว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา และ 3.ข้อพิพาทเรื่องพันธะกรณีของไทย เรื่องการถอนกำลังทหาร เป็นไปตามข้อบทปฏิบัติการที่ 2 โดยคำนึงถึงความเห็นที่ต่างกัน

ศาลเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องตีความข้อบทปฏิบัติการที่ 2 และผลของกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 ภายในขอบเขตนี้ กัมพูชาได้ร้องขอ ศาลจึงรับคำร้องของกัมพูชา ด้วยเหตุข้างต้น ศาลเห็นว่ามีข้อพิพาทของสองฝ่าย เรื่องในมาตรา 60 ของธรรมนูญศาล ด้วยเหตุนี้ศาลจึงมีขอบเขตอำนาจในการตีความ คำพิพากษาปี 1962 จึงรับคำร้องไว้พิจารณา" ผู้พิพากษา กล่าว

ไทยได้กล่าวอ้างถึงพฤติกรรมของคู่ความ เมื่อเดือนมิถุนายน 1962 และช่วงที่มีการอ่านคำพิพาษาเดือนธันวาคม 2008 ไทยได้กล่าวว่าพฤิตกรรมดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับคำพิพากษา แต่ไม่ได้มีส่วนผูกพันคู่ความการตีความซึ่งอาจกระทบต่อพฤติกรรมต่อๆไป อาจดูได้จากสนธิสัญญากรุงเวียนนา คำพิพากษามีผลผูกพันตามธรรมนูญศาล หรือการวินิจฉัยว่าศาลพิจารณาอะไร ไม่ได้อยู่ที่ความเข้าใจของคู่ความ และขอบเขตและความหมายนั้นไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของคู่ความในภายหลังในการตีความนั้น ศาลจะไม่เข้าไปพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่ในประเด็นนั้น ศาลเห็นว่าคำพิพากษาเมื่อปี 1962 (พ.ศ.2505) นั้นมีลักษณะ 3 ประการที่เห็นได้ชัด

1.ศาลพิจารณาว่าเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเกี่ยวกับที่ตั้งปราสาทและศาลไม่ได้มีหน้าที่ปักปันเขตแดน ศาลจึงกลับไปดูคำพิพากษา 1962 ได้ดูคำคัดค้านเบื้องต้นว่า กรณีนี้เป็นประเด็นเรื่องเขตอำนาจอธิปไตยมากกว่าเรื่องการกำหนดเขตแดน เพราะฉะนั้น เรื่องข้อ 1 และ 2 ของกัมพูชานั้น ศาลจะรับพิจารณาไว้เท่าที่เป็นเหตุและไม่ถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ศาลต้องชี้ขาดในข้อบทปฏิบัติการ โดยไม่มีการกล่าวถึงแผนที่ภาคผนวก 1 หรือสถานที่ของเขตแดน ในข้อบทปฏิบัติการ ไม่มีการแนบแผนที่คำพิพากษา และศาลไม่ได้กล่าวถึงความยุ่งยากในการใช้ แผนที่ภาคผนวก1 ประเด็นต่างๆ ที่คู่ความได้กล่าวอ้างนั้น มีความสำคัญในเรื่องเขตแดน

ประการที่ 2 แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเหตุผลหลักในการพิพากษา เมื่อได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของคดี และพิจารณาผลความเกี่ยวเนื่องกับสนธิสัญญา ศาลเห็นว่า ประเด็นหลักคือคู่ความได้รับรองแผนที่ภาคผนวก 1 และเส้นแบ่งเขตแดนอันเป็นผลของคณะกรรมการปักปันเขตแดน บริเวณปราสาทพระวิหาร และมีผลผูกพันหรือไม่ ศาลได้ดูพฤติกรรมของคู่ความในการเข้าไปเยี่ยมชม โดยเฉพาะสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยมีเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสให้การต้อนรับ ศาลเห็นว่า เหมือนเป็นการยอมรับโดยทางอ้อมของสยามในอธิปไตยของปราสาทพระวิหาร รวมทั้งพฤติกรรมอื่นๆ ของไทยในเวลาต่อมา ถือว่าเป็นการยืนยันของไทยในการยอมรับเส้นแบ่งเขตแดน ในภาคผนวก 1

โดยไทยในปี 1908 (พ.ศ.2451) และ1909 (พ.ศ.2452) ได้ยอมรับว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นผลของคณะกรรมการปักปัน และยอมรับว่าเป็นเส้นแบ่งเขตแดนที่นำไปสู่การวินิจฉัยว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในกัมพูชา การยอมรับของคู่ความสองฝ่าย ทำให้แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญา จึงเห็นได้ว่า การตีความสนธิสัญญาจะต้องชี้ขาดว่า แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นแผนที่ในพื้นที่ขัดแย้ง

3.ศาลได้มีความชัดเจนว่า ศาลดูเฉพาะบริเวณปราสาทพระวิหารเท่านั้น เป็นบริเวณที่เล็กมาก ปี 1962 กัมพูชากล่าวว่า พื้นที่พิพาทเป็นพื้นที่ที่เล็กมาก และในถ้อยแถลงอื่นๆ ก็ไม่มีความขัดแย้งกัน ในปี 1962 คำพิพากษาได้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่พิพาทกันเป็นพื้นที่ที่เล็กมาก หลังการพิจารณาคดี ศาลได้อธิบายบริเวณนั้นด้วย ว่า ปราสาทพระวิหาร อยู่ในด้านตะวันออกของเทือกเขาดงรัก ทางทั่วไปถือว่าเป็นเขตแดนระหว่างสองประเทศ คือทางใต้ของกัมพูชาทางใต้และทางเหนือของไทย

ส่วนแผนที่ภาคผนวก 1 ได้วางเขตแดน ศาลก็ได้บอกว่าจะพิจารณาเฉพาะบริเวณนี้เท่านั้นตามคำพิพากษา 1962 ศาลจึงได้ดูข้อบทปฏิบัติการ วรรค 2 และ 3 เป็นผลสืบเนื่องจากข้อบทปฏิบัติการที่ 1 จึงเห็นว่า ข้อบทปฏิบัติการทั้งสามต้องอ่านเป็นข้อบทปฏิบัติการเดียวกัน ไม่สามารถดูคำใดคำหนึ่งเพื่อตีความได้

ศาลเห็นว่า ข้อบทปฏิบัติการข้อ 1 นั้นชัดเจน วรรคดังกล่าวศาลเห็นว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยกัมพูชา แต่คงมีความจำเป็นที่จะต้องกลับมาที่ขอบเขต เมื่อพิจารณาข้อ 2 และ 3 ข้อพิพาททั้งสองขัดกันที่ข้อ 2

แต่ข้อ 2 พูดถึงเพียงว่าไทยจะต้องถอนเจ้าหน้าที่ ไม่ได้พูดถึงดินแดนของกัมพูชาและไม่ได้กล่าวว่า การถอนจะต้องถอนไป ณ ที่ใด ข้อบทปฏิบัติการได้พูดถึงเขตแดนแค่บริเวณปราสาทพระวิหารและใกล้เคียง ศาลไม่ได้กำหนดว่าเจ้าหน้าที่ใดของไทยต้องถอนกำลังออกไปที่ใดบ้าง บอกแต่ว่าเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในที่นั้น

ข้อบทปฏิบัติการที่ 2 ระบุว่า ไทยต้องถอนทหาร และเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ในปราสาทพระวิหารและใกล้เคียง ศาลจึงเห็นว่าจะต้องเริ่มโดยดูจากหลักฐานพยานปี 1962 เกี่ยวกับสถานที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยประจำอยู่ พยานหลักฐานเดียวที่มีคือ ที่ไทยนำเสนอซึ่งได้มีการเยี่ยมชมเมื่อ 1961 ระหว่างการพิจารณาคดีในการซักค้านของฝ่ายกัมพูชา พยานผู้เชี่ยวชาญของไทยบอกว่า มีแค่ผู้เฝ้ายามอยู่ 1 คนและตำรวจ มีการตั้งแคมป์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท และไม่ไกลก็มีบ้านพักอยู่ มีสถานีตำรวจนั้น ทางทนายฝ่ายไทยอ้างว่า อยู่ทางใต้ของแผนที่ภาคผนวก 1 แต่อยู่เหนือของเส้นสันปันน้ำ ระหว่างการพิจารณาคดีปี 1962 กัมพูชาได้นำเสนอข้อต่อสู้อีกข้อว่า จะต้องใช้เส้นสันปันน้ำในการปักปันเขตแดน"

ผู้พิพากษาศาลโลก กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องพิจารณาเส้นสันปันน้ำบริเวณปราสาทพระวิหาร การอ้างถึงสันปันน้ำ โดยทนายไทยนั้นเป็นสำคัญ เพราะอ้างว่าการแบ่งเส้นต่างๆ มีความใกล้เคียงกับที่กัมพูชาเสนอ เพราะฉะนั้นการที่มีสถานีตำรวจไทยตั้งอยู่เหนือเส้นสันปันน้้ำ ที่เป็นไปตามมติ ครม. ของไทย ที่ไทยบอกว่าอยู่นอกบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร เมื่อไทยถูกบอกว่าให้ถอนทหาร บริเวณปราสาทพระวิหารและใกล้เคียง น่าจะมีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ต่างๆที่ประจำการ ตามคำเบิกความของไทยในคดีนั้น เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่ามีเจ้าหน้าที่ไทยประจำการบริเวณอื่นแต่อย่างใด บริเวณปราสาทพระวิหารควรจะยาวไปถึง สถานที่หรือที่ตั้งมั่นของตำรวจในขณะนั้น เนื่องจากอยู่ใกล้เส้นตามมติ ครม. จึงไม่ถือว่าเป็นเส้นแบ่งเขตแดนสองประเทศไทยได้

ศาลได้เน้นย้ำบริเวณปราสาทว่า ปราสาทตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เห็นได้ชัดเจนมาก ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น คือทางตะวันออกเฉียงใต้และทางตะวันตกเฉียงใต้ของหน้าผาฝั่งกัมพูชา และด้านเหนือกับตะวันตกเฉียงเหนือเป็นที่ที่อยู่ในเทือกเขาดงรัก หุบเขาทั้งสองนี้ เป็นช่องทางที่กัมพูชาสามารถเข้าถึงปราสาทพระวิหารได้เพราะฉะนั้นตามความเข้าใจเบื้องต้นบริเวณปราสาทพระวิหาร ศาลเห็นว่า เขตแดนของกัมพูชาทางเหนือนั้น ไม่เกินเส้นแบ่งของแผนที่ภาคผนวก 1 ศาสตราจารย์ฟรีดริช แอคเคอร์มานน์ ไม่ได้ให้ระบุระยะทางที่ชัดเจน แต่ตามพยานหลักฐานมีความชัดเจนว่าด่านตำรวจอยู่ในระยะที่ไม่ไกลมากทางใต้และอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งบนแผ่นที่ภาคผนวก 1

"ดังนั้น ศาลพิจารณาพื้นที่ที่จำกัด ทั้งตะวันออกเฉียงเหนือและทางเหนือตามเหตุผล ถือว่าเป็นพื้นที่ของกัมพูชา ศาลเห็นว่าพื้นที่ตามข้อบทปฏิบัติการที่ 2 ควรขยายให้ครอบคลุมชะง่อนผา เพื่อนำมาใช้แทนที่ส่วนที่ได้มีการเลือกโดยมติ ครม.1962 ในข้อพิจารณาของกัมพูชาทางศาลไม่ได้สามารถทำคำจำกัดความ เกี่ยวกับคำว่า "บริเวณใกล้เคียงปราสาท" ว่าครอบคลุมนอกจากชะง่อนผาและภูมะเขือ ซึ่งศาลถือว่าไม่ได้เป็นการตีความที่ถูกต้องตามข้อ 1 ภูมะเขือในแผนที่นั้นเป็นพื้นที่ส่วนที่ต่างหากออกไป จากแผนที่ปี 1961 หรือแผนที่ซึ่งเป็นเอกสารแนบ

ข้อ 2 มีข้อพิจารณาในการพิจารณาปี 1961 ฝ่ายกัมพูชาไม่ได้ถือว่า ภูมะเขือ อยู่ภายในปราสาทพระวิหารในการพิจารณาข้อพิพาท ดังนั้น อดีตผู้ว่าการจังหวัดของกัมพูชา ถือว่าพระวิหารเป็นส่วนหนึ่งของอีกจังหวัด แต่ถือว่าภูมะเขือเป็นจังหวัดหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องของกัมพูชา ขณะเดียวกันจังหวัดนี้ก็เล็กเกินกว่าที่ครอบคลุมพระวิหาร และภูมะเขือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบริเวณที่สำคัญที่ศาลจะต้องพิจารณา 

ข้อ 3 ไม่ได้มีหลักฐานในการนำเสนอต่อศาลว่า ได้มีเจ้าหน้าที่ไทยหรือกำลังทหารอื่นๆ ของไทย อยู่บริเวณนั้น รวมถึงบริเวณพื้นที่ภูมะเขือซึ่งทำให้ไทยต้องถอนทหารออกจากบริเวณนั้น"

ท้ายสุด การที่กัมพูชาต้องการให้ตีความแผนที่ภาคผนวก 1 เกี่ยวกับเส้นสันปันน้ำของไทยนั้น ศาลไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกำหนดว่าสันปันน้ำอยู่ที่ใด จึงเป็นไปไม่ได้ว่าศาลได้พิจาณาเรื่องสันปันน้ำ บอกไม่ได้ว่า อาณาบริเวณใดเป็นของปราสาทพระวิหาร ในปี 1962 ศาลไม่ได้พิจารณาบริเวณที่กว้างขวางมาก และไม่ได้กำหนดบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร เพื่อให้เข้าใจว่าจะต้องครอบคลุมจากชะง่อนผาของพระวิหาร แต่คำพิพากษาดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าบริเวณภูมะเขืออยู่ในไทย เพราะศาลไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้

ด้วยเหตุผลของการพิจารณา 1962 ตามที่ได้มีการร้องขอในกระบวนการพิจาณาของศาล ได้พิจารณาบริเวณปราสาทพระวิหารด้านตะวันออก, ใต้ และตะวันตกฉียงใต้ ได้มีชะง่อนผา และปี 1962 สองฝ่ายได้ตกลงกันว่าพื้นที่นั้นอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาและพื้นที่ทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงหนือ ซึ่งมีแนวโน้มลาดชันน้อยกว่า และแยกปราสาทพระวิหารออกจากภูมะเขือ ก่อนที่จะลาดลงสู่พื้นที่ราบของกัมพูชา ดังนั้นศาลจึงพิจารณาว่า ภูมะเขืออยู่นอกพื้นที่และคำพิพากษาปี 1962 ไม่ได้พิจารณาว่าภูมะเขืออยู่ในไทยหรือกัมพูชา

ดังนั้น ชะง่อนหน้าผา และภูมะเขือ จะเริ่มที่จะยกสูงขึ้นจากพื้นราบนั้น ก็เป็นเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 โดยเส้นนั้น จะสูงขึ้นไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือและตามคำพิพากษา 1962 ได้มีการกำหนดให้ไทย ถอนกำลังออกจากบริเวณนั้น โดยต้องถอนทั้งหมด ศาลเข้าใจเรื่องที่ไทยระบุถึงการถ่ายโอนแผนที่เพื่อกำหนดพื้นที่เจาะจงตามเรื่องของวรรคดังกล่าวไปใช้ในทางปฏิบัติ ข้อพิจารณาอีกประการคือในปี 1962 ศาลไม่ได้กำหนดจะตีความคำพิพากษา การที่เราจะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตาม พันธกรณีดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายจึงไม่สามารถหาทางออกแต่ฝ่ายเดียวได้

คำพิพากษาปี 1962 ต้องมีการพิจารณาอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ เรื่องวรรค 2 ศาลพิจารณา เรื่องความสัมพันธ์ของวรรคนี้ กับข้อบทปฏิบัติการ ขณะที่ข้อบทปฏิบัติการที่ 3 ไม่ได้มีการพิจราณา แต่สามารถทำให้เข้าใจได้ในข้อบทปฏิบัติอื่นๆ ในคำตัดสินของศาล เรื่องขอบเขตข้อพิพาท เป็นเรื่องของอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร ดังนั้น ศาลจึงได้ตัดสินใจข้อปฏิบัติการที่ 1 ว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชาและไทย จึงมีพันธะถอนกำลังทหารและอื่นๆ ออกจากพื้นที่ของเขมร ในแถบของพระวิหาร และข้อบทปฏิบัติการที่ 3 ทำให้เกิดพันธะกรณีที่ครอบคุลมพื้นที่ขยาย เกินกว่าขอบเขตของปราสาทพระวิหารเอง ข้อบทปฏิบัติการที่ 3 ถือว่า เป็นพื้นที่ของกัมพูชาและคำบรรยายนี้ศาลถือว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจได้โดยปริยาย จากข้อบทปฏิบัติการที่ 3

สำหรับเรื่องอธิปไตยเหนือพื้นที่ขึ้นอยู่กับอันนี้ พื้นที่ที่ศาลเกี่ยวข้องด้วย ในคดีแรกเป็นพื้นที่มีขนาดเล็กและชัดเจน ทางเหนือก็เห็นได้ชัด สถานการณ์นี้ ศาลเห็นว่า "บริเวณอธิปไตยของกัมพูชา อยู่พื้นที่เล็กๆ เป็นผลจากสิ่งที่ได้พูดถึงในวรรคแรก และลักษณะข้อพิพาทปี 1962 และลักษณะวิธีการในการเสนอคำให้การสองฝ่าย เพราะฉะนั้น เรื่องอธิปไตยที่ศาลได้พิจารณาทั้งที่พูดถึงวรรคแรกและวรรคที่ 3 ศาลมีข้อพิจารณาสรุปว่า พื้นที่ในวรรค 1 และ 3 เป็นพื้นที่เดียวกัน ดังนั้น ปราสาทพระวิหาร อยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา เป็นการอ้างถึงววรรค 2 และ 3 ที่พูดถึงบริเวณปราสาทพระวิหาร ตามที่ได้มีการร้องขอให้พิจารณาในครั้งนี้ ดังนั้นศาลจึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องเส้นแบ่งแยกไทยและกัมพูชา

ศาลสรุปว่า ชะง่อนผาในแผนที่ภาคผนวก 1 อยู่ภายใต้อธิปไตยกัมพูชา เป็นประเด็นข้อพิพาท 1962 เป็นประเด็นหัวใจของข้อขัดแย้งนี้ นอกจากนี้ ศาลไม่ได้พิจารณาว่าพันธะกรณีที่เกิดขึ้นในข้อบทปฏิบัติการที่ 2 เป็นสิ่งที่ไทยต้องดำเนินอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ไทยได้รับว่าไทยมีหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องเคารพบูรณาการ ของกัมพูชา หมายความว่า ครอบคลุมพื้นที่ของอธิปไตยกัมพูชา หลังการแก้ปัญหาอธิปไตยแล้ว ทั้งสองฝ่ายต้องดำเนินการตามพันธะกรณี และเคารพบูรณาการของสองประเทศ และมีหน้าที่แก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างกันด้วยิวิธีการอื่น

ด้วยหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ เป็นเรื่องชัดเจนที่คำฟ้องทั้งสองฝ่ายปี 1952 และ 1962 ปราสาทพระวิหารถือว่าเป็นวัตถุโบราณสำหรับทั้งสองฝ่าย ขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้ว ศาลเห็นว่าภายใต้การทำงานของทั้งสองฝ่าย ไทยและกัมพูชาต้องคุยกันเอง หารือกันเอง โดยมียูเนสโกควบคุม ในฐานะที่เป็นมรดกโลก แต่ละรัฐมีพันธะกรณีที่ต้องดูแลและปกป้องมรดกโลกชิ้นนี้ไว้ ภายใต้บริบทเหล่านี้ศาลต้องการเน้นว่า การเข้าถึงปราสาทพระวิหารต้องเข้าถึงจากทางกัมพูชาด้วยเช่นกัน

สรุป วรรค 1 กัมพูชามีอธิปไตยเหนือทั้งชะง่อนผาที่ระบุไว้ในปี 1962 ไทยจึงมีพันธะต้องถอนกำลังหทรหารทั้งหมดบริเวณนั้น"

"ด้วยเหตุนี้ ศาลมีมติเอกฉันท์ 2 ประการดังนี้ คือ 1.ด้วยอำนาจตามมาตรา 60 ของธรรมนูญศาล ทำให้การขอตีความของกัมพูชานั้น สิ่งเหล่านี้ ศาลมีอำนาจรับคำร้อง 2.โดยมติเอกฉันท์ ศาลขอประกาศว่า ผลจากการพิจารณาคำขอตีความคำพิพากษา ณ วันที่ 15 มิถุนายน 1962 ตามที่วินิจฉัยไว้ในความในย่อหน้า 98 ของคำพิพากษาใหม่นี้วินิฉัยได้ว่า กัมพูชามีอธิปไตยทั้งหมดเหนือชะง่อนผาที่ตั้งปราสาทพระวิหาร อันยังผลให้ไทยมีพันธะต้องถอนกำลังออกจากเขตแดนตรงนั้นทั้งกำลังทหารและตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รักษาการอื่นๆ หรือ ผู้ดูแลรักษา ออกไปพ้นจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวนั้น" ผู้พิพากษาศาลโลก กล่าว